ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 57' 54.0972"
13.9650270
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 26' 53.2576"
101.4481271
เลขที่ : 197892
ประเพณีวัฒนธรรมไทพวน บุญข้าวหลาม บ้านดงกระทงยาม
เสนอโดย ปราจีนบุรี วันที่ 8 พฤษภาคม 2566
อนุมัติโดย ปราจีนบุรี วันที่ 11 พฤษภาคม 2566
จังหวัด : ปราจีนบุรี
0 407
รายละเอียด

งานประเพณีบุญข้าวหลาม บ้านดงกระทงยาม เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีหนึ่งของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลดงกระทงยาม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ไทพวนจากนครเวียงจันทน์ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมายังแถบลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ตำบลดงกระทงยาม ยังคงรักษาและสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวน ผ่านการทำกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่”

วัฒนธรรมประเพณี “ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่” ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวน เป็นเอกลักษณ์ที่เชื่อมโยงเอาพิธีกรรมความเชื่อในเรื่องผี วิถีชีวิตทางการเกษตร เข้ากับความศรัทธาในพุทธศาสนา โดยคำว่า ฮีต มาจากคำว่า จารีต หมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ส่วนคำว่า สิบสอง หมายถึง จำนวนสิบสองเดือน ตามปฏิทินรอบปี คำว่า “ฮีตสิบสอง” จึงหมายถึง ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันในรอบสิบสองเดือนของแต่ละปี ขณะที่คำว่า คองสิบสี่ คำว่า คอง หมายถึง แนวทางหรือครรลอง ส่วนคำว่า สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคำว่า คองสิบสี่ จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิวัติในการดำเนินชีวิตของผู้คนในทุกระดับ

งานประเพณีบุญข้าวหลาม เป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมประเพณี “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวนบ้านดงกระทงยาม โดยนิยมจัดขึ้นในช่วงเดือน 3 ของทุกปี เป็นงานประเพณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลดงกระทงยามจะร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมเผาข้าวหลามเพื่อนำไปทำบุญถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ณ วัดใหม่ดงกระทงยาม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุร

ประวัติความเป็นมา

ประเพณีวัฒนธรรมไทพวน (บุญข้าวหลาม) บ้านดงกระทงยาม เป็นงานวัฒนธรรมประเพณีที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธ์ไทพวนในพื้นที่ตำบลดงกระทงยาม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี รักษาและสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยเป็นประเพณีการทำบุญถวายข้าวหลามแด่พระภิกษุสงฆ์ในช่วงเดือน 3 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว

ด้วยประวัติศาสตร์พื้นเพของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวนมีทักษะความสามารถในด้านการทำการเกษตร จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลดงกระทงยามประกอบอาชีพทำนา และทำให้ ข้าว ถือเป็นพืชผลหลักทางการเกษตรของชาวบ้าน โดยในช่วงเดือน 3 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวที่ได้รับการเก็บเกี่ยวในครั้งแรกซึ่งเรียกกันว่า “ข้าวใหม่” จะมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ชาวบ้านจึงนิยมนำข้าว (ข้าวเหนียว) มาเป็นส่วนผสมคลุกเคล้ากับวัตถุดิบต่าง ๆ จนกลายเป็น “ข้าวหลาม” นำมาหยอดลงในกระบอกไม้ไผ่แล้วทำการเผาจน “ข้าวหลาม” ข้างในกระบอกสุก แล้วจึงนำ “ข้าวหลาม” ไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อทำบุญตามความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยชาวบ้านจะนิยมนำข้าวหลามไปทำบุญที่วัดในเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

อัตลักษณ์ของประเพณีวัฒนธรรมไทพวน (บุญข้าวหลาม)

ประเพณีวัฒนธรรมไทพวน (บุญข้าวหลาม) บ้านดงกระทงยาม เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สะท้อนภูมิธรรม ภูมิปัญญา เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และความเชื่อของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวนบ้านดงกระทงยาม อย่างน้อย 3 มิติ คือ หนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวนบ้านดงกระทงยามที่ผูกโยงกับทักษะทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาทางด้านการเกษตรที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวน สอง สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางด้านอาหารในการนำพืชผลทางการเกษตรอย่างข้าวมาแปรรูปเป็นอาหารพื้นถิ่นอย่าง “ข้าวหลาม” และ สาม สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวน ผ่านการร่วมกันทำกิจกรรมเผาข้าวหลาม เพื่อนำไปบุญถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัด

สำหรับกิจกรรมในประเพณีวัฒนธรรมไทพวน (บุญข้าวหลาม) บ้านดงกระทงยาม นอกจากกิจกรรมการเผาข้าวหลามแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธ์ไทพวนบ้านดงกระทงยาม เช่น การประกวดเทพีข้าวหลาม การแข่งขันกินข้าวหลามการแข่งขันหุงข้าวหม้อดินเกมภาษาพวน วิถีชีวิตไทยพวน แต่งกายย้อนยุคไทยพวน และการละเล่นพื้นบ้านของลูกหลานไทยพวน

สถานที่ตั้ง
วัดใหม่ดงกระทงยาม
ตำบล ดงกระทงยาม อำเภอ ศรีมหาโพธิ จังหวัด ปราจีนบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง ร.ต.ต.วิบูลย์ งามวงศ์
ตำบล ดงกระทงยาม อำเภอ ศรีมหาโพธิ จังหวัด ปราจีนบุรี รหัสไปรษณีย์ 25140
โทรศัพท์ 081-9777849
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่