ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 35' 3.0066"
14.5841685
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 39' 8.0957"
100.6522488
เลขที่ : 37213
ประเพณีการแข่งขันพุ่งเรือ
เสนอโดย - วันที่ 1 มกราคม 2553
อนุมัติโดย สระบุรี วันที่ 5 กรกฎาคม 2555
จังหวัด : สระบุรี
0 1962
รายละเอียด

ภูมิปัญญาไทยที่ซ่อนไว้ในประเพณีพุ่งเรือ

การแข่งขันพุ่งเรือ เกิดขึ้นที่วัดมะขามเรียง ตำบลไผ่ขวาง อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ๒๕๔๓ โดยความคิดริเริ่มของ “พระครูศุภธรรมคุณ” เจ้าอาวาสวัดมะขามเรียง เจ้าคณะอำเภอบ้านหมอ ศิษย์เอกของหลวงพ่อตาบ เกจิอาจารย์ชื่อดังของอำเภอบ้านหมอ ท่านได้ให้ข้อคิดในการฟื้นฟูประเพณีแข่งขันเรือพุ่งกับสภาวัฒนธรรมตำบลไผ่ขวาง โดยผู้นำท้องถิ่นต่างๆ ก็เริ่มสืบหาเรือพุ่งที่จะนำมาใช้แข่งขัน ค้นหาผู้รู้ ผู้ที่เคยแข่งเรือเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน โดยท่านกำนันน้อย คำมี (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ขวาง) เป็นผู้ค้นพบผู้อาวุโส คือ นายกิ่ง สุดสาระ นักทำเรือพุ่งวัย ๗๘ ปี เคยทำเรือพุ่งเรือขายลำละ ๓ บาท เมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาทองขณะนั้นราคา บาทละ ๒๔ บาท คิดเป็นมูลค่าเงินบาทไทยก็เกือบลำละ ๑,๐๐๐.- บาท ทีเดียว กำนันก็ลุยไปหาไม้ไผ่ ลำมะรอกตามสูตรโบราณหาซื้อน้ำตาลอ้อย ตะไบ กระดาษ ทราย ไปให้ลุงกิ่งสร้างเรือพุ่ง ๔ ลำ ขบวนการทำเรือพุ่งใช้เวลาเดือนเศษ เพราะต้องหาไม้ที่แก่ได้อายุ มีความแข็งแกร่งโกนไม้ขึ้นรูปตากแดด ไว้ ๒-๓ สัปดาห์ ไม้บางลำไม่ได้อายุก็เหี่ยวไปใช้ไม่ได้ จากนั้นก็เริ่มดัดไม้โดยใช้น้ำตาลอ้อยทาไม้ที่จะลนไฟ ถ้าน้ำตาลอ้อยเริ่มมีฟองก็แสดงว่าไม่ร้อนพอเหมาะที่จะดัดได้ ถ้ารนไฟไปนานกว่านั้นไม้ไผ่ก็จะไหม้ เสียคุณสมบัติการยืดหยุ่นของไม้ไผ่ เมื่อดัดไม้ให้ตรงและแห้งได้ที่แล้ว ก็เริ่มเหลาไม้ให้ได้รูปเรือพุ่ง ต้องระวังให้เรือพุ่งได้ศูนย์การขัดกระดาษทรายก็ต้องระวังอย่าให้เสียศูนย์เรือ ขนาดของเรือพุ่งต้องระวังให้เรือพุ่งได้ศูนย์ การขัดกระดาษทรายก็ต้องระวังอย่าให้เรือเสียศูนย์เรือขนาดของเรือพุ่ง กว้างประมาณ ๑ นิ้ว หนาประมาณนิ้วครึ่ง ยาวตั้งแต่ ๖ ถึง ๑๒ ศอก แล้วแต่ความถนัดของผู้แข่งขันสมัยก่อนผู้แข่งขันจะหวงเรือมาก ต้องฝึกซ้อมกับเรือที่ทำเองหรือซื้อมาจนรู้ใจเรือ ก่อนจะไปชิงชัยกับคนอื่น เรือพุ่งลำเหมาะ ๆ และรักมาก ๆ ก็จะเลี่ยมหัวเรือ และหางเรือ ด้วยเงินหรือทองเหลือง เพื่อความสวยงาม และความคงทน

ประเภทของสนามแข่งขันพุ่งเรือ มี ๒ ประเภท คือ สนามระเริง กว้าง ๒ ศอก ยาว ๓๕-๔๐ วา และสนามแก่ง กว้างประมาณ ๑ คืบ (๒๕ ซม.) ยาว ๓๕-๔๐ วาเช่นกัน เมื่อถากดินเป็นรูปสนามแล้วก็ใช้ครกหรือลูกกลิ้งบดดินให้เรียบตลอดสนาม ในการแข่งขันก็จะใช้ดินและแกลบโรยพื้นสนามให้เป็นเบาะรองรับเรือพุ่ง เรือพุ่งจะแล่นไปตามสนามได้ดี (คนพุ่งเก่ง ๆพุ่งให้เรือแล่นไปได้ ๑๐๐ กว่าเมตรทีเดียว) การสร้างสนามแข่งขันก็ได้ความสามัคคีของชาวบ้านมาช่วยกันทำงานคนละไม้คนละมือ

นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอื่นในการแข่งขันเรือพุ่งอีก เช่น การมีขบวนกลองยาวแห่เรือพุ่ง ซึ่งผู้แข่งขันแบกมาแข่งขันกัน และผู้แข่งขันต้องโพกผ้าขาวม้าไว้ที่ศีรษะ คนดูจะได้รู้ว่าเป็นผู้แข่งขัน ผู้แข่งขันส่วนใหญ่ไม่ใส่รองเท้า ซึ่งทำให้ได้สัมผัสธรรมชาติและชื่นใจกับกลิ่นไอดินอีกด้วย บางแห่งอาจจะมีกติกาการเลือกเรือพุ่ง (สมัยนี้ทำเรือพุ่งกันไม่เป็นก็ใช้เรือพุ่งกองกลาง) และการปั่นหัวก้อยว่าใครจะพุ่งก่อนหลัง

เสน่ห์ของเรือพุ่ง คือ ความเป็นธรรมชาติของสนามดิน ธรรมชาติของไม้ไผ่ที่ปิดตัวได้ เมื่อพุ่งไปครั้งหนึ่ง ก็ต้องมาเล็งศูนย์ดัดเรือพุ่งให้ตรง ดัดหัวให้เชิด จำท่าวิ่ง ท่าปล่อยเรือ ปล่อยหางโดด หรือสายโดด โดยเฉพาะการพันสายโดดกับหางเรือให้ปล่อยหลุดให้ง่ายที่สุด และอยู่ในแนวศูนย์กลางเรือการตะหวัดสายโดดให้ส่งเรือพุ่งไปได้ไกล ๆ การย่อตัวให้ต่ำขณะปล่อยเรือหลังจากที่วิ่งพาเรือมาถึงเส้นปล่อยเรือ และระวังไม่ให้ล้ำเส้นปล่อยเรือ จะได้ไม่ฟาล์ว จึงเป็นการฝึกสมาธิอีกทางหนึ่ง ฝึกกำลังใจเวลาคนเชียร์ หรือเรือพุ่งของคู่แข่งพุ่งไปไกลลิบจนคนที่จะพุ่งตามเกิดอาการใจอ่อน

ภูมิปัญญาไทยที่ซ่อนไว้ในการแข่งขันพุ่งเรือก็มีมากมาย หากมีความสนใจก็ขอเชิญมาร่วมแข่งขันได้ที่วัดมะขามเรียง ในงานเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี

การแข่งขันพุ่งเรือนี้ จัดเป็นประเพณีการละเล่นของชาวไทยชนิดหนึ่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่าน พอทราบว่าในช่วงตอนต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กีฬาการแข่งขันพุ่งเรือนี้นิยมเล่นกันมากในหมู่ชาวนา ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวธัญญาหารเสร็จแล้ว ชาวนาจะมีเวลาว่างอยู่มากก็ชักชวนกันมาถากถางตอข้าวออก พอเป็นทางสำหรับใช้เป็นสนามแข่งพุ่งเรือ สนามแข่งพุ่งเรือนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑. สนามระเริง

๒. สนามแก่ง

ความยาวของสนามทั้ง ๒ ประเภท นั้น เท่ากันคือประมาณ ๓๕ –๔๐ วาแต่ความกว้างของสนามระเริง กว้างประมาณ ๑ เมตร พื้นสนามถากเรียบ ใช้ฝุ่นละเอียดหรือแกลบโรย เพื่อให้เรือวิ่งได้ไกลโดยไม่สะดุด ความกว้างของสนามแก่ง ประมาณ ๑ คืบ (๒๕ ซม.) ใช้กาบกล้วยวางกั้นสลับ เป็นแนวเขต โรยด้วยฝุ่นหรือแกลบเช่นเดียวกัน สนามแข่งขันจัดแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ เขตสำหรับผู้แข่ง ใช้วิ่งก่อนปล่อยเรือ ซึ่งยาวประมาณ ๒ –๓ วา กรรมการจะยืนอยู่ ๒ คน หัวสนามท้ายสนาม ถือธง คนละสองอัน หากเสมอกันยกธงทั้งสอง หากมีแพ้ชนะกรรมการจะยกเพียงธงเดียว

สำหรับเรือที่ใช้ในการแข่งขัน นิยมใช้ไม้เรียกว่า ลำมะรอก (คล้ายไม้รวกแต่ลำต้นใหญ่กว่า) มีลำต้นตรง มีปล้องยาวและมีความเหนียวมากกว่าไม้ไผ่ แต่หากหาไม่ได้ก็จะใช้ไม้ไผ่สีสุกแทน ความกว้างของลำเรือประมาณ ๑ นิ้ว ส่วนความยาวนั้นมีขนาดไม่แน่นอน อาจจะอยู่ที่ความถนัดของแต่ละคน ซึ่งความยาวมักจะอยู่ระหว่าง ๗ ศอก (๓.๕๐ เมตร) ถึง ๓ วา (๖ เมตร) การเหลาเรือนั้นจะต้องใช้ความพิถีพิถันมาก หากเรือคดต้องใช้ดัดด้วยไฟอ่อนโดยใช้น้ำอ้อยทา และขัดจนเป็นมัน ส่วนหัวเรือนั้นบางครั้งเจ้าของจะใช้หุ้มด้วยเงิน หรือทองเหลือง เพื่อความสวยงามและแสดงออก ถึงความชำนาญในการพุ่งเรืออีกด้วย ส่วนประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเรือ คือ สายโดด หรือ หางโดด ใช้เชือกถัก ด้านหัวมีห่วงสำหรับสวมนิ้ว ส่วนปลายจะเป็นเชือกสองเส้นสำหรับพันกับตัวเรือ ประโยชน์คือใช้ในการปล่อยเรือ และบังคับให้เรือวิ่งไปตามที่ ต้องการ

กติกาการแข่งขัน

การแข่งขันพุ่งเรือในสมัยก่อนนั้น ผู้แข่งจะนำเรือของตนเองซึ่งถือว่าเป็นของรัก และหวงแหนมาก นำไปร่วมแข่งขันยังสนามที่จัดเตรียมไว้ อาจจะเป็นภายในหมู่บ้าน หรือต่างหมู่บ้าน บางครั้งอาจเดินทางไปแข่งขันถึงข้ามจังหวัด กติกาการแข่งขันนั้น แข่งครั้งละ ๒ คน สับเปลี่ยนกันพุ่ง และมีการแข่งอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า การพุ่งคู่ คือทั้งสองฝ่ายใช้เรือแข่ง คนละ ๒ ลำ สับเปลี่ยนกันพุ่ง ซึ่งพอจะ กำหนดกติกาได้ดังนี้ คือ

๑. ห้ามวิ่งล้ำเส้นปล่อยเรือ หากล้ำเส้นวิ่งใหม่

๒. เรือจะอยู่ในหรือนอกสนามไม่ถือเป็นสำคัญ ใช้วัดแนวสุดด้านท้ายของเรือเป็นเส้นตรงเข้ามายังสนาม

๓. หากเรือหยุดไม่ตรงให้ถือจุดท้ายสุดของเรือเป็นจุดกำหนดแล้วจับหัวเรือให้ตรงเผื่อเกิดกรณีคาบเกี่ยว

๔. การแพ้หรือชนะในแต่ละเที่ยวจะต้องแพ้หรือชนะสุดช่วงเรือ หากคาบเกี่ยวถือว่าเสมอในเที่ยวนั้นต้องแข่งขันใหม่

๕.การจะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ ต้องชนะ ๓ เที่ยว หรือ ๕ เที่ยว แล้วแต่จะกำหนด

๖. หากเกิดกรณีเรือหัก ไม่สามารถหาเรือมาเปลี่ยนใหม่ได้ อาจยืมเรือคู่ต่อสู้มาแข่งหรือจับให้เสมอกัน

๗. การพุ่งเรือ พุ่งได้ทั้งเที่ยวไป และเที่ยวกลับ สับเปลี่ยนกันพุ่ง ก่อน/หลัง

มารยาทในการแข่งขันพุ่งเรือ

การแข่งขันกีฬาทุกประเภทย่อมมีทั้งกติกาและมารยาท สำหรับการแข่งขันพุ่งเรือนี้ก็เช่นเดียวกัน คือหากฝ่ายหนึ่งเห็นว่าคู่ต่อสู้ยังไม่ชำนาญพอจะขับเคี่ยวกันได้ ก็จะมีการต่อให้คู่ต่อสู้ เรียกว่า ยืนโล้ คือผู้ที่มีความชำนาญมากกว่า จะยืนพุ่งอยู่กับที่ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่ต่อให้ โดยไม่ต้องวิ่ง และเมื่อพูดถึงความชำนาญแล้ว ผู้แข่งแต่ละคนอาจมีความชำนาญไม่เหมือนกัน คือบางคนชำนาญในการปล่อยให้เรือวิ่งเลื้อยไปบนฟางข้าวนอกสนาม ซึ่งนักแข่งเรือ เรียกกันว่า การพุ่งเคี่ยวซึ่งไม่ถือว่าเป็นการผิดกติกา แต่ส่วนใหญ่จะพุ่งไปตามสนามที่ทำไว้ เรียกว่า การพุ่งเส้น อีกอย่างหนึ่งเวลาที่ใช้ในการแข่งขันอาจดำเนินไปนานมาก โดยไม่มีใครแพ้-ชนะ ผู้แข่งเห็นว่าคู่แข่งขันเหนื่อยหรือเวลาเย็นมาก แล้วก็จะมาปรึกษากันว่าควรให้เสมอกัน หรือพักให้หายเหนื่อยแล้วมาแข่งขันกันต่อ หรือวันต่อไปค่อยมาแข่งขันกันใหม่ คือจะไม่มีการเอาเปรียบคู่แข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันพุ่งเรือนี้ จะไม่มีการจับแพ้ฟาล์ว

สถานที่ตั้ง
วัดมะขามเรียง
เลขที่ 66 หมู่ที่/หมู่บ้าน 7 บ้านบ่อกระโดน
ตำบล ไผ่ขวาง อำเภอ บ้านหมอ จังหวัด สระบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดมะขามเรียง
บุคคลอ้างอิง พระครูศุภธรรมคุณ
เลขที่ 66 หมู่ที่/หมู่บ้าน 7 บ้านบ่อกระโดน
ตำบล ไผ่ขวาง อำเภอ บ้านหมอ จังหวัด สระบุรี รหัสไปรษณีย์ 18130
เว็บไซต์  
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่