เพนียด เป็นเครื่องมือดักนก ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นห้องหับใช้ใส่นกต่อเพื่อล่อนกเป้าหมาย อีกส่วนหนึ่งคือส่วนกลไกดักนก ประกอบด้วยคอนไม้และตาข่ายครอบนกใช้วัสดุอย่างไม้ไผ่ หวาย ไม้เนื้อแข็ง และเชือกใช้ถักเป็นตาข่าย
การต่อนกโดยจะใช้นกตัวผู้ที่ร้องมาก เรียกนกเก่ง (เรียกนก คือ ร้องสำนวนสั้นๆ เพื่อเชิญให้นกป่าเข้ามาต่อสู้กัน)ใส่ไว้ข้างในกรง เมื่อนกป่าได้ยินเสียงร้องก็จะบินโฉบลงไปใกล้กรงต่อและร้องต่อสู้กันโดยจะกระพือปีก กระโดดไปมา จนกระทั่งนกป่าเข้าโจมตีโดยการจิกนกในกรงต่อก็จะถูกตาข่ายดีดลงมาทับตัวเอาไว้หรืออาจใช้นกตัวเมียเพื่อเรียกนกตัวผู้ ถ้าจะดักนกเวลากลางคืนจะไม่ใช้นกต่อตัวจริง เพราะเกรงว่านกต่อจะถูกงูกิน บางคนใช้เครื่องมือเป่าเลียนเสียงนก หรือระดับอัดเสียงนกต่อ แล้วเปิดเทป
ขั้นตอนการทำเพนียด ใช้ไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร เป็นแกนหลักของเครื่องมือ แกนไม้นี้แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหน้าเป็นกลไก ส่วนหลังเป็นห้องหับ ส่วนห้องหับหน้าหลังทำเป็นซี่ลูกกรงไม้ไผ่ เพื่อขังนกและอ่อยนกต่อไปในตัว บริเวณลูกกรงด้านหลังดึงขึ้นลงเป็นประตูเข้าออกเฉพาะเมื่อจะใส่นกต่อเข้าเมื่อจะเอานกต่อออก ที่หลังคาห้องหับสานไม้ไผ่เหมือนสานเสื่อมาคลุมไว้ เพื่อกันแดดกันลมให้นกต่อ เพื่อกันนกตีกันที่ด้านบน และเพื่อให้นกเป้าหมายเข้าหานกต่อทางด้านหน้าที่มีเครื่องมือรอทำงานอยู่ ประตูด้านหลังจึงนำประตูสานทึบมาปิดทับประตูลูกกรงอีกชั้นหนึ่งที่กลไกส่วนหน้ามีคอนไม้กับมีตาข่าย คอนไม้จะเชื่อมโยงอยู่กับเหล็กชิ้นหนึ่ง เหล็กกลมนี้จะใช้ลวดเส้นใหญ่ก็ได้ เหล็กหรือลวดนี้ตั้งฉากกับไม้ที่เป็นแกนหลักของเครื่องมือ โดยมัดลวดไว้กับไม้ชิ้นหนึ่ง เพื่อให้ลวดตั้งตรง ที่ปลายลวดโค้งเป็นขอเพื่อใช้เกี่ยวโครงตาข่ายตาข่ายถักให้มีตาไม่ถี่ไม่ห่างไปเพื่อกันนกหลุดลอด ที่ขอบตาข่ายจะมัดกับโครงไม้เป็นรูปครึ่งวงรี ที่ปลายโครงไม้ทั้ง ๒ ด้านเสียบกับแกนไม้กลม ซึ่งมีลวดสปริงยึดไว้กับไม้แกนหลัก ไม้กลมจึงหมุนได้เท่าที่ลวดสปริงจะยืดหยุ่นได้ โครงไม้ของตาข่ายจึงง้างขึ้นงับลงได้
เมื่อใช้งานนำเพนียดพร้อมนกต่อไปวางตามทำเลหากินของนก ยกโครงไม้ตาข่ายขึ้นมาเกี่ยวกับส่วนโค้งของลวด กดลวดยึดโครงตาข่ายไว้ เมื่อลวดถูกกดต่ำลงจึงไปผลักให้คอนยกขึ้น เครื่องมือพร้อมทำงาน